สำหรับผู้ที่เริ่มทำงานใหม่ และเริ่มเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตน บางครั้งอาจเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ว่า ถูกหักเงินสมทบเพื่อส่งเข้ากองทุนประกันสังคม และกรอกเอกสารเลือกโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิแล้ว แต่พอไม่สบาย จะไปใช้บริการ ณ โรงพยาบาลที่เลือก แต่ปรากฎว่า ยังไม่มีสิทธิการรักษาประกันสังคม แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมสิทธิประกันสังคมถึงไม่ขึ้น แล้วควรจะทำอย่างไร จะใช้สิทธิการรักษาอะไรดี ในบทความนี้เรามีคำตอบค่ะ
เมื่อใดจึงจะได้รับสิทธิประกันสังคม?
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ (จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย)
- กรณีที่ท่านยังชำระครบ 3 เดือน แต่ชื่อสถานพยาบาลหลักตามสิทธิการรักษายังไม่ขึ้น ท่านสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ โยสำรองจ่ายและเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมท้องที่ หากประสบอันตรายจากอุบัติเหตุสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ตามอัตราเดียวกับการเจ็บป่วยกรณีอุบัติเหตุ ส่วนการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้ในอัตราเดียวกับการเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉินเช่นกัน และให้ท่านหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง แจ้งสำนักงานประกันสังคมในท้องที่ที่เกิดเหตุทราบทันที เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมดังกล่าว กำหนดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตนใช้บริการทางการแพทย์ต่อไป
- กรณีที่ท่านยังชำระไม่ครบ 3 เดือน แล้วเกิดการเจ็บป่วย ท่านสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาเดิมของท่านก่อน จนกว่าสิทธิประกันสังคมจะขึ้น
*กรณีที่สิทธิการรักษาเดิมของท่าน คือ สิทธิบัตรทอง และท่านไม่สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลตามสิทธิได้ อาจจะเพราะย้ายมาทำงานต่างจังหวัด แต่ไม่ได้แจ้งย้ายสิทธิการรักษาตามมาตั้งแต่แรก ท่านก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐ (หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการ สปสช.) ได้โดยใช้สิทธิการรักษาพื้นฐานของท่าน หากเป็นการรักษากรณีเหตุสมควร หรือเหตุฉุกเฉิน(ตามความเห็นของแพทย์) ท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นการรับบริการที่มากกว่าสิทธิพื้นฐาน เช่น บริการทางเลือก ยานอกบัญชี ส่วนนี้ท่านอาจต้องชำระเงินเอง
2. กรณีคลอดบุตร
เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ (จ่ายเงินสมทบครบ 5 เดือน ก่อนเดือนที่คลอดบุตร)
3. กรณีทุพพลภาพ อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ (จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ก่อนเดือนที่ทุพพลภาพ)
4. กรณีเสียชีวิต อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย (จ่ายเงินสมทบครบ 1 เดือน ก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตาย)
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิ (จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ก่อนเดือนที่จะใช้สิทธิ) ที่สำคัญ ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย!
6. กรณีชราภาพ
ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ได้แก่
6.1. เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต)
เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน(>15 ปี) และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
6.2. เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว)
- เมื่อจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน(<15 ปี) และมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- เมื่อเป็นผู้ทุพพลภาพและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงหรือถึงแก่ความตาย
7. กรณีว่างงาน
เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน (จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนก่อนการว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย)
เป็นอย่างไรบ้างคะ จากบทความนี้หวังว่าท่านจะเข้าใจในเงื่อนไขของการใช้สิทธิประกันสังคมได้ดีมากยิ่งขึ้น ว่าสิทธิใด จะสามารถใช้ได้เมื่อไหร่ โดยข้อมูลดีๆที่แอดมินได้นำมาฝากทุกคนนี้ มีที่มาของข้อมูลมาจาก www.sso.go.th เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมนั้นเองค่ะ